วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เทคโนโลยีชีวภาพ มีความสำคัญอย่างไร ?

เทคโนโลยีชีวภาพ มีความสำคัญอย่างไร
           
เทคโนโลยีชีวภาพได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเกษตรกรรม อาหาร การแพทย์ และเภสัชกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อคิดค้นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เพื่อค้นคิดตัวยาป้องกันและรักษาโรค ซึ่งล้วนเป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมารับใช้ประชากรโลก ในการสร้างสรรค์พัฒนาให้มวลมนุษย์สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
           
ปัจจุบัน มีการนำวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ที่เด่นชัดที่สุดคือ ในทางการแพทย์และการเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพได้ก่อให้เกิดความหวังใหม่ ๆ ในการคิดค้นหนทางแก้ปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทั้งทางด้านเกษตรกรรม อาหาร การแพทย์ และเภสัชกรรมอันได้แก่
  • ความพยายามจะลดประมาณการใช้สารเคมีในเกษตรกรรม ด้วยการคิดค้นพันธุ์พืชใหม่ที่ต้านทานโรคศัตรูพืช อันจะช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
  • ความพยายามจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกของโลก ด้วยการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ที่ทนทานต่อภาวะแห้งแล้ง หรืออุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป
  • ความพยายามจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของโลก ด้วยการคิดค้นปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ทนทานต่อโรคภัยและให้ผลิตสูงขึ้น
  • ความพยายามจะค้นคิดอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้นหรือมีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น เช่นอาหารไขมันต่ำ อาหารที่คงความสดได้นานกว่า อาหารที่มีอายุการบริโภคนานขึ้นโดยไม่ต้องใส่สารเคมี เป็นต้น
  • ความพยายามจะค้นคิดตัวยาป้องกันและรักษาโรคติดต่อหรือโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผล เช่น การคิดตัวยาหยุดยั้งการลุกลามของเนื้อเยื่อมะเร็งแทนการใช้สารเคมีทำลาย การคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสตับต่าง ๆ   ในเชิงพาณิชย์ บริษัทใหญ่ ๆ ของโลกได้คิดค้นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพด้านเภสัชภัณฑ์และเกษตรที่มีคุณสมบัติอันเป็นที่ต้องการของแต่ละสาขาออกจำหน่าย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ของโลกมากมาย
ผลงานวิจัยค้นคว้าทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ที่โดดเด่นในด้านต่าง ๆ มีอาทิ

  • เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตร คือ การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์พืช การตัดแต่งยีน ตัวอย่างเช่นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้ ไผ่ การพัฒนาพันธุ์พืชต้านทานต่อศัตรูพืช โรคพืช การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้า
  • เทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร คือการเพิ่มคุณค่าผลผลิตของอาหาร ตัวอย่างเช่น การลดปริมาณโคเลสเตอรอลในไข่แดง การทำให้โคและสุกรเพิ่มปริมาณเนื้อ
  • เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม คือ การลดการใช้สารเคมีที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่าง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพจากสารอินทรีย์ การใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดขยะหรือน้ำเน่าเสีย
  • เทคโนโลยีการแพทย์เพื่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การผลิตวัคซีนป้องกันโรค การผลิต แอนติบอดีเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและการเยียวยารักษา การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอตรวจสอบโรคทางพันธุกรรม  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น